วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

วิปัสสนาญาณ ๓ ระดับ

อนึ่ง วิปัสสนาญาณแบ่งออกเป็น ๓ ระดับ คือ
๑. ญาณระดับสูง หมายถึง ภังคญาณเป็นต้นไป ขณิกสมาธิที่ประกอบด้วยญาณนี้เป็นสมาธิแก่กล้า ดังข้อความในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค ว่า วยลกฺขณูปฏฐาเนกตฺต (ความตั้งมั่นที่ปรากฏโดยลักษณะดับไป) และข้อความในคัมภีร์วิสุทธิมรรคที่แสดงเรื่องภังคญาณ
๒. ญาณระดับกลาง หมายถึง อุทยัพพยญาณ ขณิกสมาธิที่ประกอบด้วย ญาณนี้เป็นสมาธิปานกลาง ดังคัมภีร์วิสุทธิมรรค กล่าวถึงญาณนี้ว่า ตรุณวิปสฺสนา (วิปัสสนาญาณที่ยังไม่แก่กล้า) และกล่าวถึงผู้ถึงพร้อมด้วยญาณนี้ว่า อารทฺธวิปสฺสก (ผู้ปรารภวิปัสสนา) ทั้งสอดคล้องกับพระบาลีที่กล่าวถึงองค์คุณของนักปฏิบัติ (ปธานิยงฺค) ๔ ประการในข้อสุดท้าย ว่าเป็นผู้ตามเห็นความเกิดขึ้นและดับไป ความจริงแล้วญาณนี้ เป็นวิปัสสนาญาณขั้นแรกในญาณที่แก่กล้าบริบูรณ์
๓. ญาณระดับต่ำ หมายถึง นามรูปปริจเฉทญาณ และปัจจยปริคคหญาณ ขณิกสมาธิที่ประกอบด้วยญาณนี้เป็นสมาธิขั้นต่ำ อย่างไรก็ตาม นิวรณ์ ๕ ย่อม ไม่เกิดขึ้นในขณะที่กำหนดรู้สภาวธรรม ในขณะนั้นวิปัสสนาจิตจะหมดจดปราศจากนิวรณ์ ญาณทั้งสองนี้จึงเกิดขึ้นหยั่งเห็นสภาวลักษณะ คือ ลักษณะเฉพาะของรูปนามได้ แม้ขณิกสมาธิในญาณระดับนี้ก็มีกำลังเทียบเท่ากับอุปจารสมาธิเช่นกัน มิฉะนั้นแล้วก็ไม่อาจหยั่งเห็นรูปนามตามความเป็นจริง สมาธินี้จึงจัดเป็นจิตตวิสุทธิซึ่งเกื้อกูลแก่ญาณทั้งสองนั้น

ที่มา : หนังสือ วิปัสสนานัย เล่มที่ ๑ พระคันธสาราภิวงศ์ วัดท่ามะโอ ลำปาง

วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

แนวทางในการเจริญวิปัสสนาภาวนา


การเจริญวิปัสสนาเป็นการระลึกรู้เท่าทันสภาวธรรมปัจจุบัน โดยอาศัย คำบริกรรมเป็นเครื่องช่วยให้รู้ตัวในปัจจุบันขณะ คำบริกรรมนั้นสำคัญต่อการเจริญวิปัสสนา จัดเป็นวิชชมานบัญญัติ คือ บัญญัติแสดงเนื้อความที่ปรากฏโดยปรบัตถ์ ซึ่งเรียกว่า ตัชชาบัญญัติ หมายถึง บัญญัติที่เหมาะสมกับสภาวธรรม กล่าวคือ สื่อให้รู้ถึงสภาวธรรมนั้นๆ ได้อย่างชัดเจน

แม้การบริกรรมจะทำให้จิตรับรู้คำบัญญัติเป็นอารมณ์ แต่ก็ช่วยให้จิตจดจ่อมากขึ้นในเวลาเริ่มปฏิบัติธรรม จากนั้นจึงสามารถหยั่งเห็นรูปนามตามสภาวะนั้นๆ โดยความไม่เที่ยงเป็นต้นได้ เมื่อวิปัสสนาญาณมีกำลังมากขึ้นแล้ว ในภายหลังนักปฏิบัติก็ไม่จำเป็นต้องใช้คำบริกรรมอีกต่อไป เพราะในขณะนั้นจะสามารถตามรู้รูปนามได้ชัดเจน จนรู้เห็นความเกิดดับอย่างรวดเร็วของสภาวธรรมที่กำลังกำหนดอยู่ ดังข้อความในคัมภีร์วิสุทธิมรรคมหาฎีกาว่า

นนุ จ ตชฺชาปญฺญตฺติวเสน สภาวธมฺโม คยฺหตีติ. สจฺจํ คยฺหติ ปุพฺพภาเค. ภาวนาย ปน วฑฺฒมานาย ปญฺญตฺตึ สมติกฺกมิตฺวา สภาเวเยว จิตฺตํ ติฏฺฐติ.
“ถามว่าบุคคลย่อมรับรู้สภาวธรรมโดยเนื่องด้วยนามบัญญัติ ได้หรือ ตอบว่า จริงอยู่ ในเบื้องแรกย่อมรับโดยเนื่องด้วยนามบัญญัติ (คือมีคำบริกรรมสลับกันไป) แต่เมื่อภาวนาเจริญขึ้น จิตย่อมล่วงบัญญัติแล้ว ดำรงอยู่ในสภาวะเดียว (คือไม่มีคำบริกรรมประกอบร่วม)”

ความจริงข้อความข้างต้น กล่าวไว้ในเรื่องการระลึกถึงพระพุทธคุณ แต่นำมาประยุกต์ใช้ในการเจริญวิปัสสนาภาวนาได้ เพราะวิปัสสนามีอารมณ์เป็นสภาวธรรมเหมือนพระพุทธคุณ และการระลึกถึงพระพุทธคุณก็ต้องบริกรรมว่า อิติปี โส ภควา เป็นต้นเช่นเดียวกัน มิฉะนั้นแล้วก็ไม่อาจระลึกถึงพระพุทธคุณได้

[การใช้คำบริกรรมว่า “พองหนอ ยุบหนอ” นี้ ท่านเจ้าคุณพระธรรมธีรราชมหา­มนี (โซดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙) อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ สำนักงานกลางกองการ วิปัสสนาธุระ วัดมหาธาตุฯ คณะ ๕ กรุงเทพมหานคร ได้บัญญัติใช้ก่อนและสอนศิษยานุศิษย์สืบต่อมา ความจริงในภาษาพม่าใช้คำว่า “พองแด เปงแด” ซึ่งแปลเป็นภาษาไทย ว่า “พองอยู่ ยุบอยู่” โดยเหตุที่ภาษาพม่ามักประกอบกิริยาคุมพากย์เหมือนภาษาบาลีจึง ใช้ แด (อยู่) ควบคู่ไปกับคำว่า พอง, เปง ดังนั้น คำบริกรรมนั้นจึงมีสองคำว่า พองแด เปงแด (พองอยู่ ยุบอยู่) อย่างไรก็ตาม คนไทยทั้งประเทศคุ้นเคยกับคำว่า พองหนอ ยุบหนอ ผู้แปลจึงคิดว่าไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเป็น พองอยู่ ยุบอยู่

คำบริกรรมนั้นมีประโยชน์เพื่อให้จิตจดจ่อมากขึ้น เป็นการเพิ่มวิริยะทางใจเพื่อไม่ให้ตามรู้อย่างผิวเผิน เปรียบเหมือนก้อนดินเหนียวที่ขว้างใส่ผนังด้วยกำลังแรง ย่อมกระทบถูกผนังและติดแน่น ถ้าถูกขว้างด้วยกำลังไม่เพียงพอ ก็อาจพุ่งไปไม่ถึงผนัง หรือ แม้กระทบผนังก็ไม่ติดแน่น
]

ที่มา : หนังสือ วิปัสสนานัย เล่มที่ ๑ พระคันธสาราภิวงศ์ วัดท่ามะโอ ลำปาง

วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

วิปัสสนาไม่ใช่ความเข้าใจด้วยการสดับหรือการพิจารณา

การเจริญวิปัสสนาเป็นการตามรู้สภาวธรรมคือรูปนามตามความเป็นจริง เพื่อให้รับรู้สภาวลักษณะเป็นต้น ไม่ใช่ความเข้าใจด้วยการสดับซึ่งเรียกว่า สุตมยปัญญา หรือความเข้าใจด้วยการพิจารณาซึ่งเรียกว่า จินตามยปัญญา จะเห็นได้ว่าพระพุทธองค์ตรัสคำว่า อภิญฺเญยฺย ที่ใช้ในความหมายว่า “พึงรู้เฉพาะหน้า” หรือ “พึงรู้ด้วยปัญญาพิเศษ” โดย อภิ อุปสรรคใช้ในความหมายว่า “เฉพาะหน้า” หรือ “พิเศษ” ดังมีสาธกว่า

สภาวธมฺมานํ ลกฺขณสลฺลกฺขณโต เญยฺยอภิมุขา ปญฺญา อภิญฺญา ปญฺญา.
"ปัญญาที่รู้เฉพาะหน้าต่อรูปนามที่ควรรู้ เพราะกำหนดลักษณะของสภาวธรรม ชื่อว่า อภิญญาปัญญา ปัญญารู้เฉพาะหน้า)"
 อปิ จ สุตมยาม, จินฺตามยาย, เอกจฺจภาวนามยาย จ อภิวิสิฏฺฐาย ปญฺญาย ญาตา อภิญฺญาตา.
"อีกอย่างหนึ่ง ธรรมที่รู้ได้ด้วยปัญญาอันพิเศษกว่าปัญญาที่เกิดจาก การสดับ ปัญญาที่เกิดจากการดำริ และปัญญาที่เกิดจาก[สมถ]ภาวนาบางอย่าง ชื่อว่า ธรรมที่รู้ด้วยปัญญาพิเศษ"

การตามรู้จักขุประสาทและรูปารมณ์เป็นต้นในพระสูตรข้างต้นนั้น เป็นพระเทศนาที่ตรัสไว้เป็นลำดับเท่านั้น มิใช่หมายความว่าให้ตามรู้ทั้ง ๕ อย่าง ตามลำดับ เพราะจิตเกิดดับเร็วมากจนกระทั่งกำหนดรู้ตามลำดับไม่ได้ และการกำหนดทั้ง ๕ อย่าง ก็ไม่สอดคล้องกับข้อความในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค ซึ่งกล่าวถึงการเกิดภังคญาณด้วยหยั่งเห็นความดับของอารมณ์แล้วรับรู้ความดับ ของจิตที่หยั่งเห็นอารมณ์นั้น ดังนั้น จึงควรตามรู้สภาวะที่ชัดเจนอย่างใดอย่าง หนึ่งใน ๕ อย่างเหล่านั้นตามสมควร เมื่อตามรู้สภาวะอย่างหนึ่งแล้ว แม้สภาวะอย่างอื่นก็นับเข้าในสภาวะนั้นโดยปริยาย เพราะเป็นไตรลักษณ์เหมือนกัน
อนึ่ง ในพาหิยสูตรมีพระพุทธพจน์นี้ว่า

ตสฺมาติห พาหิย เอวํ สิกฺฃิตพฺพํ. ทิฏฺเฐ ทิฏฺรมตฺตํ ภวิสฺสติ, 
สุเต สุตมตฺตํ ภวิสฺสติ,สุเต สุตมตฺตํ ภวิสฺสติ, วิญฺญาเต วิญฺญาตมตฺตํ ภวิสฺสติ. เอวญฺหิ เต พาหิย สิกฺฃิตพฺพํ.
"ดูกรพาหิยะ เพราะเหตุนั้นแล เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเห็น จักเป็นเพียงแต่เห็น เมื่อได้ยินจักเป็นเพียงแต่ได้ยิน เมื่อรู้อารมณ์ทาง จมูก ลิ้น กาย จักเป็นเพียงแต่รู้อารมณ์ทางจมูก ลิ้น กาย เมื่อรู้อารมณ์ทางใจ จักเป็นเพียงแต่รู้อารมณ์ทางใจ ดูกรพาหิยะ เธอพึงศึกษา อย่างนี้"

พระดำรัสว่า สิกฺขิตพฺพํ (พึงศึกษา) หมายถึง การปฏิบัติด้วยการบำเพ็ญ ไตรสิกขา คือ ศีลสิกขา สมาธิสิกขา และปัญญาสิกขาให้บริบูรณ์ ไม่ใช่การศึกษาเล่าเรียนปริยัติ ดังสาธกในคัมภีร์อรรถกถาว่า

สิกฺขิตพฺพนฺติ อธิสีลสิกฺขาทีนํ ติสฺสนฺนมฺปี สิกฺขานํ วเสน สิกฺฃนํ กาตพฺพํ."พระดำรัสว่า สิกฺฃิตพฺพํ (พึงศึกษา) คือ พึงกระทำการศึกษาโดยเนื่องด้วยสิกขาทั้ง ๓ มีอธิศีลสิกขาเป็นต้น"

เอวํ อิมาย ปฏิปทาย ตยา พาหิย ติสฺสนฺนํ สิกฺขานํ อนุปวตฺตนวเสน สิกฺขิตพฺพํ."ดูกรพาหิยะ เธอพึงศึกษาด้วยการประพฤติไตรสิกขาด้วยปฏิปทานี้ อย่างนี้”



ที่มา : หนังสือ วิปัสสนานัย เล่มที่ ๑ พระคันธสาราภิวงศ์ วัดท่ามะโอ ลำปาง

วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การเจริญสมถะเป็นบาทของวิปัสสนา


ในคัมภีร์อรรถกถากล่าวถึงการเจริญสมถะเป็นบาทของวิปัสสนาว่า

ยสฺส หิ สมาธิปี ตรุโณ วิปสฺสนาปิ. ตสฺส วิปสฺสนํ ปฏฐเปตฺวา อติจิรํ นิสินฺนสฺส กาโย กิลมติ. อนฺโต อคฺคิ วิย อุฏฐหติ. กจฺเฉหิ เสทา มุจฺจนุติ. มตฺถกโต อุสุมวฏฺฏิ วิย อุฏฺฐหติ. จิตฺตํ หญฺญติ วิหญฺญติ วิปฺผนุทติ. โส ปุน สมาปตฺตึ สมาปชฺชิตฺวา ตํ ปริทเมตฺวา มุทุกํ กตฺวา สมสฺสาเสตฺวา ปุนวิปสฺสนํ ปฎฐเปติ. ตสฺส ปุน อติจิรํ นิสินฺนสฺส ตเถว โหติ. โส ปุน สมาปตฺตึ สมาปชฺชิตฺวา ตเถว กโรติ. วิปสฺสนาย หิ พหูปการา สมาปตฺติ.
“โดยแท้จริงแล้ว บุคคลใดมีสมาธิและวิปัสสนาไม่แก่กล้า เมื่อเธอนั่งเจริญวิปัสสนานานร่างกายย่อมลำบากเหมือนไฟเผาอยู่ภายใน เหงื่อไหลออกจากรักแร้เหมือนมีควันพุ่งออกจากกระหม่อม จิตย่อมลำบาก ทุรนทุราย เธอย่อมเข้าสมาบัตินั้นอีก ข่มความลำบากกายและใจนั้นแล้ว กระทำให้ทุเลาลงจนสบายแล้วเจริญวิปัสสนาอีก เมื่อเธอนั่งนาน อีกความลำบากเหมือนอย่างนั้นย่อมเกิดขึ้น เธอย่อมเข้าสมาบัติอีก กระทำเหมือนก่อนความจริงการเข้าสมาบัติมีอุปการะมากแก่วิปัสสนา”

ข้อความข้างต้นนี้แสดงว่า เนยยบุคคลผู้บรรลุสมถฌานก่อนแล้วมาเจริญวิปัสสนา สามารถเข้าฌานสมาบัติในขณะที่เกิดความลำบากกายและใจ แล้วจึงเจริญวิปัสสนาต่อไป การปฏิบัติเช่นนี้จะทำให้สมาธิและปัญญาในวิปัสสนาแก่กล้าขึ้นตามลำดับ เมื่อสมาธิและปัญญาแก่กล้าความลำบากกายและใจย่อมไม่เกิดขึ้น สามารถนั่งกำหนดได้อย่างต่อเนื่องตลอดทิวาราตรี สมถฌานจึงเกื้อกูลแก่เนยยบุคคลโดยพิเศษอย่างนี้

ในปัจจุบันโยคีบุคคลผู้มักเจริญวิปัสสนาก่อน อาจพบกับความลำบากกายและใจบ้าง แต่ถ้ากำหนดรู้สภาวธรรมอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งสมาธิและปัญญาแก่กล้าแล้ว ก็จะสามารถข้ามพ้นความลำบากนั้นไปได้
ด้วยเหตุที่กล่าวมานี้ ศีลและสมถภาวนาเป็นธรรมเกื้อกูลแก่เนยยบุคคล เป็นพิเศษ ท่านจึงกล่าวไว้ในคัมภีร์เนตติอรรถกถาข้างด้นว่า สิกขา ๓ เกื้อกูลแก่ เนยยบุคคล แต่ท่านมิได้กล่าวไว้โดยมุ่งจะแสดงว่าเขาต้องเจริญสิกขา ๓ เป็น เวลานานจึงจะบรรลุธรรมได้

เจ้าศากยะสรณานิจัดเป็นเนยยบุคคลที่บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันด้วย การเจริญวิปัสสนาขณะใกล้เสียชีวิต ไม่นับเป็นอุคฆฏิตัญญูหรือวิปจิตัญญู เพราะไม่ปรากฏในพระบาลีหรืออรรถกถาว่าได้บรรลุธรรม จังนั้น เนยยบุคคลจึงไม่จำเป็นต้องรักษาศีลให้หมดจดมาเป็นเวลานานจึงจะบรรลุธรรมได้

ที่มา : หนังสือ วิปัสสนานัย เล่มที่ ๑ พระคันธสาราภิวงศ์ วัดท่ามะโอ ลำปาง

วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

อานิสงส์ของการตามรู้เวทนา

การตามรู้เวทนาส่งผลให้นักปฏิบัติหยั่งเห็นความเกิดดับของเวทนา ในบางขณะนักปฏิปัติอาจรับรู้เหตุเกิดขึ้นและเหตุดับไปของเวทนาตามที่ได้สลับมาอีกด้วย กล่าวคือ สุขเวทนาเกิดจากการประสบกับอารมณ์ที่น่าชอบใจ ทุกขเวทนาเกิดจากการพบกับอารมณ์ที่ไม่น่าชอบใจ อุเบกขาเวทนาเกิดจากการประสบกับอารมณ์เป็นกลาง นอกจากนี้ เวทนายังมีเหตุเกิดคือกรรมในอดีต อวิชชา และตัณหา

ผู้ที่หยั่งเห็นความเกิดดับของเวทนาอย่างนี้ จะเกิดสติระลึกรู้ว่ามีเพียง ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือวางเฉย ไม่มีบุคคล เรา ของเรา บุรุษ สตรี เขาย่อมปราศจากความยึดมั่นสิ่งใดสิ่งหนึ่งในโลกคืออุปาทานขันธ์ สมจริงดังพระพุทธพจน์ว่า


สมุทยธมฺมานุปสุสี วา เวทนาสุ วิหรติ.
วยธมฺมานุปสฺสี วา เวทนาสุ วิหรติ.
สมุทยวยธมฺมานุปสุสี วา เวทนาสุ วิหรติ.
อตฺถิ เวทนาติ วา ปนสฺส สติ ปจฺจุปฏฺฐิตา โหติ ยาวเทว ญาณมตฺตาย ปฏิสฺสติมตตาย.
อนิสฺสิโต จ วิหรติ.
น จ กิญฺจิ โลเก อุปาทิยติ.
“เธอตามรู้สภาวะคือความเกิดขึ้นในเวทนาอยู่บ้าง ตามรู้สภาวะคือ ความดับในเวทนาอยู่บ้าง ตามรู้สภาวะคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความดับในเวทนาอยู่บ้าง เธอย่อมเป็นอยู่อีกอย่างหนึ่ง คือเข้าไปตั้งสติว่าเวทนามี ก็เพียงสักว่าเอาไว้รู้ เพียงสักว่าเอาไว้ระลึกได้เท่านั้น เธอเป็นผู้อยู่อย่างไม่ถูกตัณหาและทิฏฐิเข้าอิงอาศัย และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก”

ที่มา : หนังสือ วิปัสสนานัย เล่มที่ ๑ พระคันธสาราภิวงศ์ วัดท่ามะโอ ลำปาง

วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

นิวรณ์ ๕ ประการ

๑. กามฉันทะ ความยินดีพอใจในกาม คือ สิ่งที่น่าชอบใจอันได้แก่รูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย และสัมฝัสอ่อนนุ่ม แม้ความต้องการจะ บรรลุฌาน วิปัสสนา มรรค ผล และนิพพาน ก็จัดเป็นกามฉันทะเช่นเดียวกัน นักปฏิบัติพึงตามรู้สภาวธรรมนี้ว่า “ชอบหนอ”
๒. พยาปาทะ ความหงุดหงิดไม่พอใจโกรธ เกลียด ปองร้าย นักปฏิบัตพึงตามรู้สภาวธรรมนี้ว่า “โกรธหนอ”
๓. ถีนมิทธะ ความง่วงซึมเซา นักปฏิบัติพึงตามรู้สภาวธรรมนี้ว่า ง่วงหนอ”
๔. อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านเดือดร้อนใจ นักปฏิบัติพึงตามรู้สภาวธรรมนี้ว่า “คิดหนอ” “ฟังหนอ” หรือ “ร้อนใจหนอ”
๕. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในพระพุทธเจ้าผู้ทรงรู้แจ้งธรรมทั้งปวง สงสัยในพระธรรมคือมรรค ผล และนิพพาน สงสัยในพระอริยสงฆ์ผู้บรรลุธรรม สงสัยในรูปนามที่เกิดจากเหตุคืออวิชชา สงสัยในแนวทางแห่งการปฏิบัติ หรือ สงสัยในคำแนะนำของวิปัสสนาจารย์ เป็นต้น นักปฏิบัตพึงตามรู้สภาวธรรมนี้ว่า “สงสัยหนอ”
เมื่อนักปฏิบัติตามรู้กามฉันทะเป็นด้น จนกระทั่งสงบไปด้วยการกำหนด หนึ่งครั้งหรือหลายครั้งตามสมควรแล้ว พึงตามรู้จิตที่ผ่องใสปราศจากกามฉันทะ โดยกำหนดว่า “รู้หนอ” แม้พยาปาทะเป็นต้นก็มีนัยเดียวกัน

ที่มา : หนังสือ วิปัสสนานัย เล่มที่ ๑ พระคันธสาราภิวงศ์ วัดท่ามะโอ ลำปาง

วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

วิปัสสนาขณิกสมาธิ

ความจริงการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานใช้สมาธิระดับขณิกสมาธิ (momentary concentration) ได้แก่สมาธิเพียงชั่วขณะเท่านั้น ผู้ปฏิบัติต้องพยายามกําหนดอารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์ คือ รูปนามที่เกิดขึ้นทางทวารทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ตั้งสติกําหนดทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งอาการต่าง ๆ เช่น การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การสัมผัส และการนึกคิด เป็นต้น ขณะเดียวกันต้องกําหนดอารมณ์ตาง ๆ ให้เห็นเป็นความไม่เที่ยง (อนิจจัง )  ความทนได้ยาก (ทุกขัง) และความไม่ใช่ตัวตน (อนัตตา) เมื่อกําหนดเช่นนี้ติดต่อกันอย่างไม่ขาดสาย กําลังของสมาธิจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถกําจัดนิวรณ์ต่าง ๆ ได้ ฉะนั้น วิปัสสนาขณิกสมาธิจึงมีกําลังเท่ากับสมถอุปจารสมาธิ และเมื่อวิปัสนาญาณสูงขึ้นถึงระดับหนึ่ง เช่น อุทัยพยญาณ ภังคญาณ แล้วก็จะมีกําลังมากคล้าย ๆ กับอัปปนาสมาธิ อย่าเข้าใจผิดว่าการปฏิบัติวิปัสสนาต้องตั้งสติกําหนดที่อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องย้ายไปกําหนดที่อารมณ์อื่น สมาธิจะได้ตั้งมั่น จิตไม่วอกแวก เช่น ขณะกําหนดอาการพอง-ยุบ พอมีการได้ยิน การปวด การคิด เกิดขึ้น และเป็นอารมณ์ที่ชัดกว่า ก็ไม่ยอมกําหนด การปฏิบัติเช่นนี้เป็นการเขาใจผิด สมาธิที่เกิดขึ้นเป็นเพียงสมถสมาธิ

ส่วนวิปัสสนาขณิกสมาธินั้น มีรูปนามปรมัตถ์ เป็นอารมณ์ ต้องตั้งสติจนได้สมาธิชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าขณิกสมาธิ แต่วิปัสสนาขณิกสมาธิเมื่อมีกําลังแก่กล้าพอ ก็สามารถทําให้บรรลุถึงโลกุตตรอัปปนาสมาธิ คือ เข้าถึงมรรคผล นิพพานได้ อุปมาเหมือนเมล็ดงาที่มีขนาดเล็กมาก เมล็ดหนึ่ง ๆ ย่อมมีน้ํามันน้อย ยังไม่อาจทําให้เกิดเป็นน้ํามันขึ้นมาได้ แต่เมื่อเอาหลาย ๆ เมล็ด รวมกันเข้าก็ได้น้ํามันมาก ข้อนี้ฉันใดวิปัสสนาขณิกสมาธิก็ฉันนั้น โยคีบุคคลที่มีจิตไปถึงไหน ก็ตั้งสติกําหนดไปที่นั้น ได้ขณิกสมาธิเกิดขึ้นมาทันที ไม่เรียกว่าใจฟุ้งซ่านเมื่อขณิกสมาธิมีกําลังมาก เท่ากับอุปจารสมาธิแล้ว การกําหนดอารมณ์อันหนึ่งกับอีกอันหนึ่งนั้นระหว่างกลางอารมณ์ทั้งสองกิเลสนิวรณ์เขาไม่ได้


ที่มา : วิปัสสนากรรมฐาน แนวมหาสติปัฏฐานสูตร – พระราชพุทธิญาณ วัดบุพพาราม เชียงใหม่

วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

รูปแบบของวิปัสสนายานิก

การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนววิปัสสนายานิก หรือสุทธวิปัสสนากรรมฐาน (pure insight meditation) ซึ่งเป็นการปฏิบัติวิปัสสนาล้วน ๆ โยคีหรือผู้ปฏิบัติจะต้องกําหนดรูปธรรม (materiality) และนามธรรม (mentality) ที่เป็นปรมัตถ์ ในขณะที่ทวารทั้ง ๖ รับรู้อารมณ์ภายนอก (รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัส และธรรมารมณ์) ตัวอย่างเมื่อมีรูป (คลื่นแสง) มากระทบกับตาจะเกิดการเห็นขึ้น ให้ตั้งสติกําหนดในใจว่า “เห็นหนอ ๆๆ” ในขณะที่มีการเห็นเกิดขึ้นจะมีองค์ประกอบที่สําคัญ ๓ อย่างคือ

. ตา เป็นรูป ซึ่งเป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ คือ การมองเห็น
. รูปหรือคลื่นแสงก็เป็นรูป
. จักขุวิญญาณ คือการเห็น เป็นนาม

ดังนั้น ทุกครั้งที่มีการกําหนดว่า “เห็นหนอ ๆ ๆ” ด้วยความเพียร (อาตาป) สติ (สติมา) และสัมปชัญญะ (สัมปชาโน) จะมีเพียงรูป (คือ ตา กับคลื่นแสงที่มากระทบกับตา) และนาม (คือจักขุ
วิญญาหรือการเห็น) เกิดขึ้น รูปและนามที่เกิดขึ้นก็มีการเกิดและการดับอยู่ตลอดเวลาอย่างถี่ยิบเพราะเป็นรูปนามปรมัตถ์ ต่อมาก็จะเห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์และความไม่ใช่ตัวตน ในขณะ
นั้นจะไม่มีสิ่ง สมมุติหรือบัญญัติ (concepts) เช่น ฉันเห็น เขาเห็น เธอเห็น สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม สําหรับโยคีผู้เริ่มปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน มักประสบความยากลำบากอย่างมากในการกําหนดรูปนามที่เกิดขึ้นทางทวารทั้ง ๖ วิปัสสนาจารย์ในสมัยก่อนจึงนิยมให้กําหนดตามหมวดอิริยาบถใหญ่ ๔
(อิริยาปถปัพพะ) หมวดอิริยาบถย่อย 4 (สัปชัญญะปัพพะ) และหมวดกําหนด
ธาตุ ๔ (ธาตุมนสิการปัพพะ) ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้โดยทางวิปัสสนา เมื่อเริ่มปฏิบัติให้นั่งในทำสมาธิแบบพระพุทธรูป ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาวางลงบนมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง ดํารงสติให้มั่นเอาสติไปกําหนดที่ท้องบริเวณสะดือ ให้สังเกตแต่เพียงอาการคือการแสดงออกมา (manifestation) ซึ่งได้แก่การเคลื่อนไหว ( movement or motion) ของท้องขณะที่ท้องพองออกให้กําหนดในใจว่า “พองหนอ” และขณะที่ท้องยุบลงให้กําหนดในใจว่า “ยุบหนอ” ไม่ให้มีการออกเสียง เป็นแต่เพียงการกําหนดในใจ (a mental note) เท่านั้น ปล่อยให้การหายใจดําเนินไปตามปกติไม่ต้องไม่สนใจกับ ลมหายใจเข้าออก และรูปรางสัณฐานของท้อง จำไว้ว่าสนใจแต่เพียงอาการพองและอาการยุบของท้องเท่านั้น

การกําหนดในใจว่า “พองหนอ-ยุบหนอ” (ภาษาไทย) “
rising-falling” (ภาษาอังกฤษ) หรือ “อนนมติ-โอนมติ” (ภาษาบาลี) นั้น เป็นเพียงคําภาวนา ซึ่งเป็นอารมณ์บัญญัติ (conventional concept) เพื่อก่อให้เกิดสมาธิเท่านั้นไม่ใช่เป็นอารมณ์ปรมัตถ์ (ultimate reality) ซึ่งเป็นอารมณ์ของ วิปัสสนากรรมฐาน ดังนั้น นอกเหนือจากการกําหนดในใจว่า “พองหนอ ยุบหนอ” แล้วโยคีจะต้องพยายามสังเกตดู “อาการพอง-อาการยุบ” ซึ่งเป็นอารมณ์ปรมัตถ์ แน่นอนในระยะเริ่มต้นโยคีมักจะกําหนดได้แต่เพียงอารมณ์บัญญัติก่อน ต่อไปเมื่อวิริยะ (ความเพียร) สติ (ความระลึกได้) สมาธิ (ความสงบและความตั้งมั่นของจิต) และปัญญา (ความรู้) พัฒนามากขึ้น ๆ ก็จะค่อย ๆ เห็นอารมณ์ปรมัตถ์คือ อาการพอง-อาการยุบ ชัดขึ้น ๆ เป็นลําดับ การกําหนดอารมณ์ของกรรมฐาน “พองหนอ-ยุบหนอ” คือการกําหนด “วาโยโผฏฐัพพรูป” ซึ่งหมายถึงรูปตามที่ลมถูกต้องนั่นเอง

ที่มา : วิปัสสนากรรมฐาน แน่วมหาสติปัฏฐานสูตร – พระราชพุทธิญาณ วัดบุพพาราม เชียงใหม่

วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ธาตุลมกับอาการพองและอาการยุบ

ธาตุลม (วาโยธาตุ) มี ๒ อย่าง คือ
. วาโยธาตุภายในและ
. วาโยธาตุภายนอก

ในที่นี้วาโยธาตุภายในมีอยู่ ๖ ประการคือ
. ลมที่ขึ้นเบื้องสูง ซึ่งก่อให้เกิดอาการเรอ สะอึก หรืออาเจียน
. ลมที่พัดลงสู่เบื้องล่าง ซึ่งทําให้มีการถ่ายปัสสาวะและอุจจาระออกจากร่างกาย
. ลมที่อยู่ในท้องภายนอกระบบทางเดินอาหาร
. ลมในกระเพาะและลําไส้
. ลมที่เดินตามเส้นประสาทไปตามแขนขา และส่วนตาง ๆ ของร่างกาย ก่อให้เกิดการยืน การนั่ง การเดิน การคู้ การเหยียด และอิริยาบถย่อยอื่น ๆ และ
. ลมหายใจเข้าและออก

ส่วนวาโยธาตุภายนอก ได้แก่ ลมที่อยู่ภายนอกร่างกาย เช่น ลมมรสุม ลมไต้ฝุ่น ลมประจําทิศ ลมร้อน ลมเย็น ลมที่เกิดจากพัดลม เป็นต้น

จากหลักฐานดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การกําหนดอาการพองและอาการยุบของท้อง มิใช่การกําหนดลมหายใจเข้าและลมหายใจออกซึ่งอยูในหมวดอานาปานปัพพะ แต่เป็นการกําหนดวาโยธาตุหรือธาตุลมซึ่งอยูในหมวดธาตุมนสิการปัพพะ ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตรว่า 

“ภิกษุพิจารณาดูกาย นี้แหละ ตามที่สถิตอยู่ ตามที่ตั้งอยู่โดยความเป็นธาตุว่า ในการนี้มี ธาตุดิน (
the earth element) ธาตุน้ํา (the water element) ธาตุไฟ (the fire element) และธาตุลม (the wind element)

ในขณะปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ธาตุทั้ง ๔ จะปรากฏอาการให้รู้เป็นปัจจุบันธรรม ตัวอย่างในอิริยาบถนั่ง ร่างกายของโยคีจะมีลักษณะตึงและเคร่ง เพื่อให้ทรงตัวอยู่ได้ในอิริยาบถนี้

ด้วยอํานาจของธาตุลมเหมือนลูกโป่งที่ถูกอัดจนแน่นด้วยลม จนมีลักษณะพองและตึง ความแข็ง
(hardness) หรือความอ่อน (softness) คือลักษณะเฉพาะของธาตุดินบางครั้งรู้สึกอุ่นหรือร้อนบริเวณท้องหรือก้นที่สัมผัสกับพื้น ความอุ่น (warmth) หรือความร้อน (hotness) คือธาตุไฟที่ปรากฏออกมา การที่ท้องหรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเกาะกุมกันจนมีรูปร่างเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ผนังหนาท้อง การเกาะกุม (cohesion) เช่นนี้ คือ ลักษณะของธาตุน้ํา ส่วนอาการหรือการเคลื่อนไหว (motion) ของท้องเวลาท้องพองออกและท้องยุบลง คือปรากฎการณ์ของธาตุลมธาตุทั้ง ๔ เป็นรูปที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เรียกว่า อวินิพโภครูป สิ่งที่เป็นรูปทุกอย่างแม้แต่ปรมาณูที่เล็กที่สุดจะต้องมีคุณสมบัติที่มีอยู่เป็นประจํา ๘ อย่างคือ
. ปฐวี (คือสภาพแข็งและอ่อน)
. อาโป (คือสภาพเอิบอาบและเกาะกุม)
. เตโช (คือสภาพร้อนและเย็น)
. วาโย (คือสภาพเคร่งตึงและเคลื่อนไหว)
. วัณณะ (คือสี)
. คันธะ (คือกลิ่น )
. รสะ (คือรส) และ
. โอชา (คืออาหารรูป)

ที่มา
: วิปัสสนากรรมฐาน แนวมหาสติปัฏฐานสูตร – พระราชพุทธิญาณ วัดบุพพาราม เชียงใหม่

วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ธาตุลมทําให้เกิดการเคลื่อนไหวของร่างกาย

การเคลื่อนไหวของร่างกายเกิดจากอํานาจของธาตุลม เมื่อเราคู้แขนเขามา เหยียดแขนออกไป หรือแสดงพฤติกรรมทางกายอย่างใดอย่างหนึ่ง แสดงว่าธาตุลมกําลังทํางานอยู่ ตัวอย่าง สําหรับการเดิน ก่อนที่การเดินจะเกิดขึ้น จิตจะทําหน้าที่เป็นผู้สั่งทําให้วาโยธาตุแล่นไปทั่วร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณขาทั้งสองข้าง ผลที่ตามมาคือพฤติกรรมของการเดิน โดยสรุปจิตที่อยากเดินนั้น เป็นเหตุ ส่วนอาการเดินที่เกิดขึ้นเป็นผล

สิ่งที่น่าสนใจมากคือ ปรากฏการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับหลักสรีรวิทยาทางการแพทย์ ในสมองของแต่ละคนจะมีส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหว เช่น การเคลื่อนไหวของร่างซีกซ้ายจะถูกควบคุมโดยสมองซีกขวา เมื่อเราต้องการจะยกมือซ้าย จิตที่ประกอบด้วยเจตนาจะสั่งให้สมองซีกขวาจะส่งกระแสประสาท (nerve impulse) ไปตามเซลล์ประสาท (neurons) จากเซลล์หนึ่งไปยังอีกเซลล์หนึ่งไปสู่เส้นประสาท (nerve fibers) ที่ไปเลี้ยงบริเวณแขนและมือซ้าย กระแสประสาทจะก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของมือตามที่ต้องการ ความจริงแล้วกระแสประสาทก็ คือ ธาตุลมนั้นเอง เพราะมีหน้าที่เหมือนกันคือ การทําให้เกิดการเคลื่อนไหว (movement) ในร่างกาย

ในการเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถ้าโยคีกําหนดแต่เพียงรูปร่างสัณฐานของ ท้อง แขน ขา หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อารมณ์ที่ปรากฏกับจิตยังคงเป็นอารมณ์บัญญัติ (conventional concepts) ซึ่งเป็นอารมณ์ของสมถกรรมฐานทําให้จิตสงบและตั้งมั่นแต่ยังไม่สามารถทําลายสักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดว่าเป็นตัวเราของเขา เป็นสัตว์ บุคคล เรา เขา ทํานองนี้ได้ แต่ถ้าโยคีพยายามกําหนดการเคลื่อนไหวของท้องพร้อมกับการกําหนดในใจว่า “พองหนอ-ยุบหนอ” หรือกําหนดการเคลื่อนไหวของเท้า พร้อมกับการกําหนดในใจว่า “ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ” (สําหรับการเดินจงกรม ๓ ระยะ) ในลักษณะเช่นนี้อารมณ์ที่ปรากฏกับจิตจะเป็นอารมณ์ปรมัตถ์ (ultimate realities) ซึ่งเป็นอารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐาน การกําหนดที่ถูกต้อง เช่นนี้จะนําไปสู่วิปัสสนาญาณที่ค่อย ๆ สูงขึ้นตามลําดับ จนเห็นแจงประจักษ์ในความไม่เที่ยง (อนิจจัง) ความเป็นทุกข์ (ทุกขัง) และความไม่มีตัวตน (อนัตตา) ของรูปนาม เห็นรูปนามเกิดดับอย่างถี่ยิบ จนเกิดความกลัว ความเห็นโทษ ความเบื่อหน่าย ความปรารถนาที่จะพ้นไปจากรูปนาม และจนสุดท้ายคือ บรรลุมรรคญาณและผลญาณในที่สุด

ที่มา : วิปัสสนากรรมฐาน แนวมหาสติปัฏฐานสูตร – พระราชพุทธิญาณ วัดบุพพาราม เชียงใหม่