วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

วิปัสสนาไม่ใช่ความเข้าใจด้วยการสดับหรือการพิจารณา

การเจริญวิปัสสนาเป็นการตามรู้สภาวธรรมคือรูปนามตามความเป็นจริง เพื่อให้รับรู้สภาวลักษณะเป็นต้น ไม่ใช่ความเข้าใจด้วยการสดับซึ่งเรียกว่า สุตมยปัญญา หรือความเข้าใจด้วยการพิจารณาซึ่งเรียกว่า จินตามยปัญญา จะเห็นได้ว่าพระพุทธองค์ตรัสคำว่า อภิญฺเญยฺย ที่ใช้ในความหมายว่า “พึงรู้เฉพาะหน้า” หรือ “พึงรู้ด้วยปัญญาพิเศษ” โดย อภิ อุปสรรคใช้ในความหมายว่า “เฉพาะหน้า” หรือ “พิเศษ” ดังมีสาธกว่า

สภาวธมฺมานํ ลกฺขณสลฺลกฺขณโต เญยฺยอภิมุขา ปญฺญา อภิญฺญา ปญฺญา.
"ปัญญาที่รู้เฉพาะหน้าต่อรูปนามที่ควรรู้ เพราะกำหนดลักษณะของสภาวธรรม ชื่อว่า อภิญญาปัญญา ปัญญารู้เฉพาะหน้า)"
 อปิ จ สุตมยาม, จินฺตามยาย, เอกจฺจภาวนามยาย จ อภิวิสิฏฺฐาย ปญฺญาย ญาตา อภิญฺญาตา.
"อีกอย่างหนึ่ง ธรรมที่รู้ได้ด้วยปัญญาอันพิเศษกว่าปัญญาที่เกิดจาก การสดับ ปัญญาที่เกิดจากการดำริ และปัญญาที่เกิดจาก[สมถ]ภาวนาบางอย่าง ชื่อว่า ธรรมที่รู้ด้วยปัญญาพิเศษ"

การตามรู้จักขุประสาทและรูปารมณ์เป็นต้นในพระสูตรข้างต้นนั้น เป็นพระเทศนาที่ตรัสไว้เป็นลำดับเท่านั้น มิใช่หมายความว่าให้ตามรู้ทั้ง ๕ อย่าง ตามลำดับ เพราะจิตเกิดดับเร็วมากจนกระทั่งกำหนดรู้ตามลำดับไม่ได้ และการกำหนดทั้ง ๕ อย่าง ก็ไม่สอดคล้องกับข้อความในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค ซึ่งกล่าวถึงการเกิดภังคญาณด้วยหยั่งเห็นความดับของอารมณ์แล้วรับรู้ความดับ ของจิตที่หยั่งเห็นอารมณ์นั้น ดังนั้น จึงควรตามรู้สภาวะที่ชัดเจนอย่างใดอย่าง หนึ่งใน ๕ อย่างเหล่านั้นตามสมควร เมื่อตามรู้สภาวะอย่างหนึ่งแล้ว แม้สภาวะอย่างอื่นก็นับเข้าในสภาวะนั้นโดยปริยาย เพราะเป็นไตรลักษณ์เหมือนกัน
อนึ่ง ในพาหิยสูตรมีพระพุทธพจน์นี้ว่า

ตสฺมาติห พาหิย เอวํ สิกฺฃิตพฺพํ. ทิฏฺเฐ ทิฏฺรมตฺตํ ภวิสฺสติ, 
สุเต สุตมตฺตํ ภวิสฺสติ,สุเต สุตมตฺตํ ภวิสฺสติ, วิญฺญาเต วิญฺญาตมตฺตํ ภวิสฺสติ. เอวญฺหิ เต พาหิย สิกฺฃิตพฺพํ.
"ดูกรพาหิยะ เพราะเหตุนั้นแล เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเห็น จักเป็นเพียงแต่เห็น เมื่อได้ยินจักเป็นเพียงแต่ได้ยิน เมื่อรู้อารมณ์ทาง จมูก ลิ้น กาย จักเป็นเพียงแต่รู้อารมณ์ทางจมูก ลิ้น กาย เมื่อรู้อารมณ์ทางใจ จักเป็นเพียงแต่รู้อารมณ์ทางใจ ดูกรพาหิยะ เธอพึงศึกษา อย่างนี้"

พระดำรัสว่า สิกฺขิตพฺพํ (พึงศึกษา) หมายถึง การปฏิบัติด้วยการบำเพ็ญ ไตรสิกขา คือ ศีลสิกขา สมาธิสิกขา และปัญญาสิกขาให้บริบูรณ์ ไม่ใช่การศึกษาเล่าเรียนปริยัติ ดังสาธกในคัมภีร์อรรถกถาว่า

สิกฺขิตพฺพนฺติ อธิสีลสิกฺขาทีนํ ติสฺสนฺนมฺปี สิกฺขานํ วเสน สิกฺฃนํ กาตพฺพํ."พระดำรัสว่า สิกฺฃิตพฺพํ (พึงศึกษา) คือ พึงกระทำการศึกษาโดยเนื่องด้วยสิกขาทั้ง ๓ มีอธิศีลสิกขาเป็นต้น"

เอวํ อิมาย ปฏิปทาย ตยา พาหิย ติสฺสนฺนํ สิกฺขานํ อนุปวตฺตนวเสน สิกฺขิตพฺพํ."ดูกรพาหิยะ เธอพึงศึกษาด้วยการประพฤติไตรสิกขาด้วยปฏิปทานี้ อย่างนี้”



ที่มา : หนังสือ วิปัสสนานัย เล่มที่ ๑ พระคันธสาราภิวงศ์ วัดท่ามะโอ ลำปาง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น