วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

แนวทางในการเจริญวิปัสสนาภาวนา


การเจริญวิปัสสนาเป็นการระลึกรู้เท่าทันสภาวธรรมปัจจุบัน โดยอาศัย คำบริกรรมเป็นเครื่องช่วยให้รู้ตัวในปัจจุบันขณะ คำบริกรรมนั้นสำคัญต่อการเจริญวิปัสสนา จัดเป็นวิชชมานบัญญัติ คือ บัญญัติแสดงเนื้อความที่ปรากฏโดยปรบัตถ์ ซึ่งเรียกว่า ตัชชาบัญญัติ หมายถึง บัญญัติที่เหมาะสมกับสภาวธรรม กล่าวคือ สื่อให้รู้ถึงสภาวธรรมนั้นๆ ได้อย่างชัดเจน

แม้การบริกรรมจะทำให้จิตรับรู้คำบัญญัติเป็นอารมณ์ แต่ก็ช่วยให้จิตจดจ่อมากขึ้นในเวลาเริ่มปฏิบัติธรรม จากนั้นจึงสามารถหยั่งเห็นรูปนามตามสภาวะนั้นๆ โดยความไม่เที่ยงเป็นต้นได้ เมื่อวิปัสสนาญาณมีกำลังมากขึ้นแล้ว ในภายหลังนักปฏิบัติก็ไม่จำเป็นต้องใช้คำบริกรรมอีกต่อไป เพราะในขณะนั้นจะสามารถตามรู้รูปนามได้ชัดเจน จนรู้เห็นความเกิดดับอย่างรวดเร็วของสภาวธรรมที่กำลังกำหนดอยู่ ดังข้อความในคัมภีร์วิสุทธิมรรคมหาฎีกาว่า

นนุ จ ตชฺชาปญฺญตฺติวเสน สภาวธมฺโม คยฺหตีติ. สจฺจํ คยฺหติ ปุพฺพภาเค. ภาวนาย ปน วฑฺฒมานาย ปญฺญตฺตึ สมติกฺกมิตฺวา สภาเวเยว จิตฺตํ ติฏฺฐติ.
“ถามว่าบุคคลย่อมรับรู้สภาวธรรมโดยเนื่องด้วยนามบัญญัติ ได้หรือ ตอบว่า จริงอยู่ ในเบื้องแรกย่อมรับโดยเนื่องด้วยนามบัญญัติ (คือมีคำบริกรรมสลับกันไป) แต่เมื่อภาวนาเจริญขึ้น จิตย่อมล่วงบัญญัติแล้ว ดำรงอยู่ในสภาวะเดียว (คือไม่มีคำบริกรรมประกอบร่วม)”

ความจริงข้อความข้างต้น กล่าวไว้ในเรื่องการระลึกถึงพระพุทธคุณ แต่นำมาประยุกต์ใช้ในการเจริญวิปัสสนาภาวนาได้ เพราะวิปัสสนามีอารมณ์เป็นสภาวธรรมเหมือนพระพุทธคุณ และการระลึกถึงพระพุทธคุณก็ต้องบริกรรมว่า อิติปี โส ภควา เป็นต้นเช่นเดียวกัน มิฉะนั้นแล้วก็ไม่อาจระลึกถึงพระพุทธคุณได้

[การใช้คำบริกรรมว่า “พองหนอ ยุบหนอ” นี้ ท่านเจ้าคุณพระธรรมธีรราชมหา­มนี (โซดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ.๙) อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ สำนักงานกลางกองการ วิปัสสนาธุระ วัดมหาธาตุฯ คณะ ๕ กรุงเทพมหานคร ได้บัญญัติใช้ก่อนและสอนศิษยานุศิษย์สืบต่อมา ความจริงในภาษาพม่าใช้คำว่า “พองแด เปงแด” ซึ่งแปลเป็นภาษาไทย ว่า “พองอยู่ ยุบอยู่” โดยเหตุที่ภาษาพม่ามักประกอบกิริยาคุมพากย์เหมือนภาษาบาลีจึง ใช้ แด (อยู่) ควบคู่ไปกับคำว่า พอง, เปง ดังนั้น คำบริกรรมนั้นจึงมีสองคำว่า พองแด เปงแด (พองอยู่ ยุบอยู่) อย่างไรก็ตาม คนไทยทั้งประเทศคุ้นเคยกับคำว่า พองหนอ ยุบหนอ ผู้แปลจึงคิดว่าไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเป็น พองอยู่ ยุบอยู่

คำบริกรรมนั้นมีประโยชน์เพื่อให้จิตจดจ่อมากขึ้น เป็นการเพิ่มวิริยะทางใจเพื่อไม่ให้ตามรู้อย่างผิวเผิน เปรียบเหมือนก้อนดินเหนียวที่ขว้างใส่ผนังด้วยกำลังแรง ย่อมกระทบถูกผนังและติดแน่น ถ้าถูกขว้างด้วยกำลังไม่เพียงพอ ก็อาจพุ่งไปไม่ถึงผนัง หรือ แม้กระทบผนังก็ไม่ติดแน่น
]

ที่มา : หนังสือ วิปัสสนานัย เล่มที่ ๑ พระคันธสาราภิวงศ์ วัดท่ามะโอ ลำปาง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น