วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

วิปัสสนาขณิกสมาธิ

ความจริงการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานใช้สมาธิระดับขณิกสมาธิ (momentary concentration) ได้แก่สมาธิเพียงชั่วขณะเท่านั้น ผู้ปฏิบัติต้องพยายามกําหนดอารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์ คือ รูปนามที่เกิดขึ้นทางทวารทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ตั้งสติกําหนดทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งอาการต่าง ๆ เช่น การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การสัมผัส และการนึกคิด เป็นต้น ขณะเดียวกันต้องกําหนดอารมณ์ตาง ๆ ให้เห็นเป็นความไม่เที่ยง (อนิจจัง )  ความทนได้ยาก (ทุกขัง) และความไม่ใช่ตัวตน (อนัตตา) เมื่อกําหนดเช่นนี้ติดต่อกันอย่างไม่ขาดสาย กําลังของสมาธิจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถกําจัดนิวรณ์ต่าง ๆ ได้ ฉะนั้น วิปัสสนาขณิกสมาธิจึงมีกําลังเท่ากับสมถอุปจารสมาธิ และเมื่อวิปัสนาญาณสูงขึ้นถึงระดับหนึ่ง เช่น อุทัยพยญาณ ภังคญาณ แล้วก็จะมีกําลังมากคล้าย ๆ กับอัปปนาสมาธิ อย่าเข้าใจผิดว่าการปฏิบัติวิปัสสนาต้องตั้งสติกําหนดที่อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องย้ายไปกําหนดที่อารมณ์อื่น สมาธิจะได้ตั้งมั่น จิตไม่วอกแวก เช่น ขณะกําหนดอาการพอง-ยุบ พอมีการได้ยิน การปวด การคิด เกิดขึ้น และเป็นอารมณ์ที่ชัดกว่า ก็ไม่ยอมกําหนด การปฏิบัติเช่นนี้เป็นการเขาใจผิด สมาธิที่เกิดขึ้นเป็นเพียงสมถสมาธิ

ส่วนวิปัสสนาขณิกสมาธินั้น มีรูปนามปรมัตถ์ เป็นอารมณ์ ต้องตั้งสติจนได้สมาธิชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าขณิกสมาธิ แต่วิปัสสนาขณิกสมาธิเมื่อมีกําลังแก่กล้าพอ ก็สามารถทําให้บรรลุถึงโลกุตตรอัปปนาสมาธิ คือ เข้าถึงมรรคผล นิพพานได้ อุปมาเหมือนเมล็ดงาที่มีขนาดเล็กมาก เมล็ดหนึ่ง ๆ ย่อมมีน้ํามันน้อย ยังไม่อาจทําให้เกิดเป็นน้ํามันขึ้นมาได้ แต่เมื่อเอาหลาย ๆ เมล็ด รวมกันเข้าก็ได้น้ํามันมาก ข้อนี้ฉันใดวิปัสสนาขณิกสมาธิก็ฉันนั้น โยคีบุคคลที่มีจิตไปถึงไหน ก็ตั้งสติกําหนดไปที่นั้น ได้ขณิกสมาธิเกิดขึ้นมาทันที ไม่เรียกว่าใจฟุ้งซ่านเมื่อขณิกสมาธิมีกําลังมาก เท่ากับอุปจารสมาธิแล้ว การกําหนดอารมณ์อันหนึ่งกับอีกอันหนึ่งนั้นระหว่างกลางอารมณ์ทั้งสองกิเลสนิวรณ์เขาไม่ได้


ที่มา : วิปัสสนากรรมฐาน แนวมหาสติปัฏฐานสูตร – พระราชพุทธิญาณ วัดบุพพาราม เชียงใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น